หน้าแรก | แฟชั่นและกิจกรรมของเรา | สาระน่ารู้เกี่ยวกับผ้าไหม | วิธีการสั่งซื้อและชำระเงิน
แผนที่ร้าน | เกี่ยวกับเรา | ติดต่อเรา | คำถามที่พบบ่อย
|
เส้นทางสายไหมสู่ประเทศไทย
การนุ่งห่มด้วยผ้าไหมไทยมีมานานเพียงใด ยังไม่มีใครที่จะสามารถสืบหาเรื่องได้ชัดเจน จนกระทั่งมีการพบหลักฐานยืนยันได้ว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ 2500-3000(วาสนา, 2538, วิบูลย์ 2530และChessman, 1988)มีการทอผ้าขึ้นใช้โดยพบเศษผ้าที่ติดอยู่กับกำไลสำริดของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียงและเศษผ้าไหมซึ่งพบที่บ้านนาดี อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี บ่งบอกว่าประเทศไทย ได้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและมีการทอผ้ามานานประมาณ 3,000 ปี ซึ่งอาจมีการสืบทอดอารยะธรรม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหม สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในแถบนี้ มิได้มีการอพยพหรือเคลื่อนย้ายวัฒนธรรมจากแผ่นดินจีนแต่อย่างใด ปัจจุบันยอมรับแล้วว่า เมื่อ 5,000 ปีมาแล้วได้มีมนุษย์อาศัยอยู่ในดินแดนแผ่นดินไทย(ประโชติ,2532) โดยพบจากหลักฐานโบราณคดีชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีการตั้งอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง มีความรู้การปลูกข้าง เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
![]() ในขณะที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังไม่แจ้งชัดหรือยืนยันได้ว่าไหมไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่นี่หรือได้รับการถ่ายทอดจากที่ใด นักวิทยาศาสตร์โบราณคดี ก็พยายามเซาะแสวงหาหลักฐานหรือข้อสันนิษฐานทางชีววิทยาและภูมิศาสตร์โดยตั้งข้อสังเกตว่าไหมไทยพันธ์พื้นบ้านที่เลี้ยงกันมาตั้งแต่โบราณและยังคงมีเลี้ยงกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เป็นไหมที่มีการฟักตัวตามธรรมชาติ สามารถฟักออกเป็นตัวได้ปีละหลายครั้ง รังไหมมีรูปร่างเรียวเล็ก หัวท้ายแหลม สีเหลืองมีปุยมาก ประมาณร้อยละ 20 แตกต่างกับไหมของจีนในสมัยราชวงศ์เซีย ส่วนลาว กัมพูชาและ เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้นมีพันธุ์ไหมพื้นเมืองสีเหลือง
![]() เอกสารในสมัยราชวงศ์โจว(Zhou Dynasty) ประมาณ 570-227 ก่อนพุทธกาลกล่าวว่า ไหมที่เลี้ยงฟักออกปีละ 2 ครั้ง มีการลอกคราบ 3 ครั้ง รังสีขาวในหนังสือ Tshan – Shuz(Treatise on Sericulture) และในหนังสือ NungShu กล่าวว่าจีนเลี้ยงไหม รังสีขาวลอกคราบ 3 ครั้ง ส่วนทางภาคใต้ของจีนเลี้ยงไหมรังสีเหลือง ที่ลอกคราบ 4 ครั้ง เอกสารโบราณในราชวงศ์จิ้น ระหว่าง พ.ศ. 800-963 กล่าวว่าไหมที่เลี้ยงในแถบตังเกี๋ยเป็นไหมที่ฟักออกเป็นตัวปีละ 8 ครั้ง(ฟักออกตลอดปี) รังบางเล็ก ปุยมาก เมื่อสาวออกจะได้เส้นไหมที่มีขนาดเล็ก ละเอียดและยังพบไหมชนิดเดียวกันนี้ที่เมืองนันยาง(Nun Yang) มณฑลโฮนาน(Honan) และมืองหลินอ้าย(Lini) มณฑลไกวโจว (Kweichow) ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของจีนทั้งสองเมืองในสมัยราชวงศ์ถัง พบเอกสารโบราณบันทึกว่า ราษฎรในเมืองอ่าวโจว(I-Chouan) มณฑลเสฉวน(Zhechuan) ซึ่งเป้นเมืองทางตอนกลาง ของแผ่นดินจีน จ่ายภาษีให้รัฐเป็นตัวหนอนไหมที่ฟักออกปีละ 3 ครั้ง มีรังสีขาว รูปร่างกลม
![]() จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ทำให้สรุปได้ว่า พันธุ์ไหมที่ใช้เลี้ยงในภาคกลางของจีนยุคแรก เป็นชนิดที่ฟักออกเป้นตัวปีละ 2 ครั้ง รังกลมสีขาว ส่วนทางภาคใต้ของจีนจะเลี้ยงไหมพันธุ์ที่ฟักออกตลอดปี รังสีเหลืองมีขนาดเล็กเส้นใยอ่อนนุ่มเป็นเหลื่อมมัน คุณสมบัติและคุณลักษณะเหล่านี้ จะมีความคล้ายคลึงกับพันธุ์ไหมพื้นบ้านของไทย ลาว เวียดนามและ กัมพูชา เป็นต้น(จิราภรณ์ ,2535)
![]() นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าไหมพื้นบ้านของไทย เช่นกระด้งเลี้ยงไหม จ่อ เหล่ง อัก ไน กี่ มีลักษณะคล้ายคลึงและใกล้เคียงกับอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ทางตอนใต้ของจีนและลาว ทำขึ้นอย่างง่ายๆ เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไหมและทอผ้าในครัวเรือน ซึ่งต่างจากภาคกลางของจีน ซึ่งมีการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ เพื่อส่งเป็นสินค้าออก(จิราภรณ์,2535)
![]() จะเห็นว่าการเลี้ยงไหมพื้นบ้านของชาวไทย โดยเฉพาะในทางภาคอีสานมีความใกล้เคียงหรือคล้ายคลึงกับการเลี้ยงไหมของชาวจีนตอนใต้ ชาวเวียดนาม ชาวลาวและชาวกัมพูชา สิ่งที่ทำกันอันนำไปสู่การถ่ายทอดหรือเคลื่อนย้ายอารยะธรรม การเลี้ยงไหม สามไหม และทอผ้าไหม ไหลมาตามแม่น้ำโขง จากภาคใต้ของจีนสู่ดินแดนในประเทศไทยในปัจจุบัน
|