1. ผ้าตาราง (ตะราง / โสร่ง) เป็นผ้าที่ทอกันมาแต่โบราณ ถือเป็นผ้าผืนสำคัญ ผืนหนึ่งของครอบครัวร่วมกับผ้าขาวม้า และผ้าหางกระรอก ที่ผู้เป็นภรรยา ลูก หลานผู้หญิงจะต้องทอไว้ให้พ่อบ้าน ปู่ ตา พี่น้อง ผู้ชายไว้ใช้ อาจทอด้วยเส้นไหม หรือเส้นฝ้ายก็ได้ ลักษณะของผ้าตารางหรือผ้าโสร่ง จะมีลักษณะเป็นตาตารางใหญ่ สี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลายสี ทั้งแดง เขียว เหลือง น้ำเงิน สลับกันตลอดทั้งผืน ขีดคั่นระหว่างตาตารางสีใหญ่นั้นด้วย ริ้วขีดคั่นสีแดง หรือสีขาวหรือสีเหลือง เป็นเส้นเล็ก ๆ ทั้งผืน ผ้าตาราง หรือผ้าโสร่งนี้จะมีหน้ากว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 2 เมตร แล้วเย็บเข้าด้วยกันเป็นถุง คล้ายกับผ้าซิ่นของผู้หญิง โทนสีของผ้าจะมี 2 โทน คือ ผ้าโสร่งแดง จะมีสีสันสดใส สำหรับผู้ชายที่มีอายุไม่สูงนัก ไม่เกิน 40 ปีแต่ถ้าเป็นผู้ชายสูงวัยจะใช้ผ้าโทนสีเข้ม เรียกว่า ผ้าโสร่งดำ ผ้าโสร่งส่วนใหญ่ จะทอด้วย เส้นไหมลูกลายหรือเส้นไหมหางกระรอก เนื้อผ้าในลายตารางจึงมีสีเหลือบลายคล้ายเส้นขนของหางกระรอก จึงเรียกว่า ผ้าโสร่งไหมหางกระรอก ชาวนครราชสีมานิยมใส่ลำลองอยู่บ้านและไปวัด
2. ผ้าขาวม้า (ผ้ากรรมา / ผ้ากำมา / ผ้าคะมา) เป็นผ้าที่ทุกครัวเรือนทอใช้มาแต่โบราณเช่นเดียวกับผ้าตารางหรือผ้าโสร่งอาจทอเป็นผ้าขาวม้าไหมหรือฝ้ายก็ได้ ลักษณะของผ้าขาวม้าจะมีตาตารางสี่เหลี่ยมเล็กกว่าผ้าตารางหรือผ้าโสร่ง ตรงชายผ้าทั้งสองด้านจะทอปล่อยให้เป็นเส้นทิวยาวเป็นริ้ว ๆ โดยจะทอเป็นตาตารางเฉพาะส่วนกลางของผืนผ้า ผ้าขาวม้าจะมีขนาดหน้าผ้าประมาณ 60 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.50 เมตร นับเป็นผ้าเอนกประสงค์ ใช้พาดบ่า ผูกเอวทับซ้อนเสื้อ เวลานุ่งผ้าตารางหรือผ้าโสร่งหรือผ้าโจงให้แน่นมิให้หลุดง่าย ใช้โพกศีรษะกันแดดเวลาทำนา ใช้นุ่งอาบน้ำ ใช้ปูนอน ใช้ผูกอู่ให้ลูก ฯลฯ
3. ผ้าไหมมัดหมี่ เป็นผ้าทอที่ใช้เทคนิคการมัดหมี่ เพื่อสร้างลวดลายขึ้นบนผืนผ้าโดยช่างทอผ้าจะมัดลายหมี่เป็นข้อเล็ก ๆ ให้เป็นลายต่าง ๆ เช่น ลายขอ ลายนาค ลายเข็มขัดนาค ลายไข่เขมร ลายปลา ลายผีเสื้อ ลายโคม ฯลฯ มีนับร้อย ๆ ลาย ล้วนเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ถ่ายทอดกันมา จากนั้นจึงนำเส้นไหมที่ผ่านการมัดลายแล้วไปย้อมสีที่กำหนดไว้ บางลายอาจต้องนำมาแกะหมี่ที่มัดไว้บางปมออก แล้วนำไปย้อมสีใหม่ เพื่อเพิ่มสีสันในลายผ้าให้สวยงามขึ้น ผู้มัดหมี่ที่ชำนาญจะสามารถลอกลายจากผ้าผืนที่มองเห็นได้หรือดูรูปภาพที่ถูกใจก็นำมาคิดมัดลายหมี่ได้เช่นกัน ปัจจุบันลายหมี่โบราณหลายลายได้สูญหายไปแล้ว เพราะละเอียดมัดยากทำได้ช้าเหลือเพียงลายหมี่ประยุกต์ที่ทำง่าย เร็ว และเป็นที่ต้องการของคนสมัยใหม่
4. ผ้าไหมพื้นเรียบ เป็นผ้าทอลายขัดพื้นฐานทั่วไปที่เส้นยืนและเส้นพุ่งเป็นสีเดียวกันหรือสีใกล้เคียงกัน อาจทอด้วยเส้นไหมน้อยหรือเส้นไหมเปลือกนอก (ไหมลืบ) ที่ให้ผ้าเนื้อหนาหรือทอด้วยไหมเส้นเดียว สองเส้น สามเส้น สี่เส้น จะให้ผ้าเนื้อหนาบางต่างกันไป นิยมนำมาใช้ตัดเสื้อผ้า กระโปรง กางเกง ถ้าผ้าพื้นหนา ๆ อาจนำไปใช้ทำผ้าม่าน ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ บุผนังห้อง บุหัวเตียง ทำเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น โคมไฟ ผ้าคลุมเตียง ก็ได้
5. ผ้าหางกระรอก จัดเป็นผ้าทอพื้นเรียบชนิดหนึ่งที่ใช้เทคนิคการทำเส้นพุ่งพิเศษด้วยการใช้เส้นไหมสองเส้นสองสีมาตีเกลียวควบให้เป็นเส้นเดียวกัน เช่น สีแดงควบสีเหลือง สีดำควบสีชมพู สีแดงครั่งควบสีขาว เป็นต้น เรียกว่า “เส้นควบ” , “เส้นลูกลาย” หรือ “เส้นหางกระรอก” จากนั้นนำมาทอพุ่งขัดกับเส้นยืน ซึ่งใช้สีอีกหนึ่งอาจเข้มหรืออ่อนกว่าสีที่ใช้ เพื่อให้เกิดลายขัดเด่นขึ้นมา จะได้ผ้าพื้นที่มีลายเหลือบเล็ก ๆ ในเนื้อผ้าดูคล้ายจะมีปุยขนอ่อนขึ้นมาเหมือนกับเส้นขนของหางกระรอก จึงเรียกว่า “ผ้าหางกระรอก”
ผ้าหางกระรอก แต่โบราณเป็นผ้าที่มีความกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 3.50 - 4 เมตร ที่ชายผ้าทั้งสองด้านจะมีริ้วเชิงชายเล็ก ๆ คั่นอยู่ ใช้สำหรับนุ่งโจงกระเบน (นุ่งโจง) สมัยก่อนทั้งชายและหญิง เวลาไปงานสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นผ้าที่ให้นาคนุ่งเวลาบวช ปัจจุบันได้มีการทอผ้าหางกระรอกประยุกต์ให้มีลวดลาย สีสัน สวยงามเหมาะสำหรับนำไปตัดเย็บเสื้อผ้า รวมถึงพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าห่ม ฯลฯ
6. ผ้าไหมพิมพ์ลาย เป็นการพัฒนาผ้าไหมพื้นเรียบให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ โดยใช้วิธีการพิมพ์ลายลงไปบนผืนผ้า มีทั้งลายพรรณพฤกษา ลายสัตว์ ลายไทย ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตผ้าไหมโดยโรงงานอุตสาหกรรมที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีหลายโรงงานที่ทำผ้าไหมพิมพ์ลาย เพื่อส่งขายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศและแปรรูปเป็นเสื้อผ้าทั้งสุภาพบุรุษและสตรี
7. ผ้าทอไท – ยวน ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมามีกลุ่มชนไท – ยวนที่อพยพมาอาศัยอยู่ แต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบันชาวไท – ยวนจะมีภูมิปัญญาการทอผ้าของตนโดยเฉพาะทอเป็นผ้าซิ่น ผ้าซิ่นตีนจก ผ้าห่ม ผ้าปกหัวนาคปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการทอ รูปแบบ ลวดลายให้ดูทันสมัย สวยงามแต่ยังคงเอกลักษณ์งดงามเป็นผ้าไท – ยวน ไว้
ที่มา: อาจารย์อ้อยทิพย์ เกตุเอม จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
|